ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรม
พืชสวนโลก 2569 ที่อุดรธานี แลนด์มาร์คอีเวนต์
ครั้งแรกในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 (International Horticultural Expo 2026) โดยจะจัดขึ้น ณ จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 ถึง 14 มีนาคม 2570 โดยจะเป็นงานแลนด์มาร์คอีเว้นต์ครั้งแรกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตอกย้ำความพร้อมของจังหวัดในการจัดงานไมซ์ระดับโลก ภายใต้แนวคิด Diversity of Life: People, Water and Plants วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่ ความเชื่อมโยงของสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้คนในท้องถิ่น ผนวกแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) และนโยบายการเกษตรและอาหาร “3S” สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)
ในการประชุมสามัญประจำปี 2565 ของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers หรือ AIPH) ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ประชุม AIPH มีมติตกลงตามข้อเสนอของประเทศไทย ในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ. 2569 (Udon Thani International Horticultural Expo 2026) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 ถึง 14 มีนาคม 2570 ภายใต้แนวคิด “Diversity of Life: Connecting Water, Plants, and People for sustainable living หรือ ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต: สายสัมพันธ์แห่งน้ำ พืชพรรณ และผู้คนสู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” อันสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของจังหวัดอุดรธานี ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้คนในท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน
ทั้งนี้ ในพิธีการส่งมอบการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวแสดงความขอบคุณในนามของรัฐบาลไทยต่อสมาชิก AIPH สำหรับความไว้วางใจและการสนับสนุนที่มอบให้แก่ประเทศไทย โดยความสำเร็จครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงทางอาหารโลกตามนโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ที่เน้นด้านความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และ ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศการเกษตร (Sustainability) โดยเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) และยึดมั่นต่อเจตจำนงด้านสภาพภูมิอากาศตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกด้วย ซึ่งความมุ่งมั่นในเรื่องนี้สามารถผนวกใช้เป็นพื้นฐานของแนวคิดและการนำเสนอสาระของงาน และหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น จนเป็นแรงผลักดันให้มีการขับเคลื่อนมาตรการแนวปฏิบัติที่ทำได้จริงในระดับสากลเพื่อความยั่งยืนที่ลดทอนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป
ด้านนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้กล่าวย้ำถึงความพร้อมของทางจังหวัดฯ ในการสร้างความมั่นใจต่อความสำเร็จของการจัดงานที่จะเกิดขึ้น โดยงานพืชสวนโลกที่อุดรธานี จะเป็นงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนี้ ด้วยสถานะความเป็นประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงศูนย์กลางด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคฯ ของทางจังหวัดอุดรธานี ทำให้มั่นใจได้ว่าการจัดงานครั้งนี้จะสามารถสะท้อนภาพแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมตลอดถึงพันธุ์ไม้นานาชนิดซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของการจัดงานอีกด้วย
ส่วน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยในการยื่นประมูลสิทธิ์ครั้งนี้ ได้กล่าวแสดงความมั่นใจต่อความสำเร็จของการจัดงานที่ถือเป็นงานแลนด์มาร์คระดับโลก ซึ่งประเทศไทยเคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ และยังได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล และวาระแห่งชาติในการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) เศรษกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งลดและพลิกฟื้นผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดงานที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2569
นายทิม ไบรเออร์คลิฟฟ์ (Mr. Tim Briercliffe) เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (Secretary General of AIPH) กล่าวปิดท้ายในนามของสมาคมฯ ว่า ทาง AIPH มีความมุ่งหวังจะเห็นการจัดงานที่สามารถตอบโจทย์วาระการพัฒนาโลกในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม
สำหรับการจัดงานอุดรธานีเอ็กซ์โปในครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท และสามารถดึงดูดผู้เข้าชมงานจำนวน 3.6 ล้านคน ตลอดการจัดงานทั้ง 134 วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น