วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เผยวิธีรับมือเมื่อ COVID-19 ลงปอด

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เผยวิธีรับมือเมื่อ COVID-19 ลงปอด

 ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงเป็นเรื่องที่น่าห่วง โดยเฉพาะหากเชื้อไวรัสลงปอดแล้วปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันเพื่อเตรียมรับมือให้ถูกวิธีหากต้องเผชิญกับปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

            ผศ.นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงสูง การทำงานของเชื้อตัวนี้จะเริ่มจากการที่เชื้อเข้าไปในร่างกายแล้วไปเกาะในอวัยวะต่าง ๆ อาทิ ปอด หัวใจ หลอดเลือด ลำไส้ และหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต หลังจากนั้นเชื้อไวรัส COVID-19 จะแทรกซึมเข้าไปในเซลล์และเพิ่มจำนวนในเซลล์ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเพิ่มจำนวนถึงระดับหนึ่งแล้วจะทำลายเซลล์ แล้วแตกตัวออกมาเป็นไวรัสจำนวนมากเพื่อไปแทรกซึมในอวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งการทำลายเซลล์ที่เกิดขึ้นจะถูกกระทบเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งอวัยวะนั้น ๆ ได้รับความเสียหายและไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกต่อไป ในกรณีของปอด เมื่อปอดถูกทำลายไปมากแล้วย่อมไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ตามปกติ ระดับออกซิเจนในเลือดของคนไข้ก็จะต่ำลง ทำให้เนื้อปอดไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม

                เมื่อเชื้อไรวัส COVID-19 ลงปอดแล้ว กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่สุดคือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีโรคอ้วน BMI มากกว่า 30 และผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อเชื้อไวรัส COVID-19 แทรกซึมลงไปถึงปอดแล้วจับกับเซลล์ในปอดจำนวนมากจะทำให้เกิดการทำลายเซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดโดยตรง ซึ่งเซลล์ที่ถูกทำลายในจำนวนมากนี้จะส่งผลให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้นเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส COVID-19 และต่อต้านปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่ผิดปกติในร่างกาย กระบวนการนี้จะเกิดการทำลายเนื้อปอดซ้ำซ้อน จนทำให้เนื้อปอดแย่ลงอย่างรวดเร็ว และจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นถ้าไม่รีบรักษา

การรักษาโรค COVID-19 เมื่อลงปอดแล้วสามารถทำได้ด้วยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัสเพื่อหยุดยั้งไม่ให้เชื้อแบ่งตัวเพิ่มขึ้นและทำลายเซลล์ นอกจากนี้แพทย์จะจ่ายยาต้านการอักเสบเพื่อลดกระบวนการอักเสบในร่างกายร่วมกับการให้ยารักษาตามอาการควบคู่กันไปด้วย

ในกรณีที่อาการหนัก เนื้อปอดบวมน้ำมาก เนื้อปอดเสียหายมาก แพทย์จำเป็นจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเนื้อปอด ซึ่งจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดสูงพอที่จะสามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ แต่ในบางกรณีที่เครื่องช่วยหายใจไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ก็จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ซึ่งทำงานโดยการนำเลือดจากร่างกายคนไข้มาฟอกแล้วเติมออกซิเจนก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของคนไข้อีกครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับคนไข้

สิ่งที่ควรคำนึงถึงและสำคัญที่สุดในการดูแลปอดช่วง COVID-19 คือ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งทำได้ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่แออัด เลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 โทร.1719  หรือ LINE Official : @hearthospital

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28  "สรวงศ์" รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเ...