วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

Reboot Your Brain กู้สมอง ฟื้นฟูแบบองค์รวม

  Reboot Your Brain กู้สมอง ฟื้นฟูแบบองค์รวม

สมองเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญในร่างกายมนุษย์ การสั่งการ ควบคุม ประสานงานการเคลื่อนไหว และการตอบสนองของร่างกาย โรคหรือความผิดปกติของสมองแต่ละบริเวณที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดอาการและอาการแสดงที่แตกต่างกัน การรักษาโรคทางสมองจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในความซับซ้อนทางกายวิภาคและหน้าที่ของระบบประสาท การตรวจร่างกายอย่างตรงจุดเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง และผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

นพ. อภิชาติ พิศาลพงศ์ ผู้อำนวยการ แผนกอายุรกรรมระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท นพ.นันทศักดิ์ ทิศาวิภาต ผู้อำนวยการ แผนกศัลยกรรมระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท พญ. ดวงพร รุธิรโก อายุรแพทย์ ด้านผู้ป่วยวิกฤต รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล และนพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส ร่วมแถลงข่าว “Reboot Your Brain กู้สมองกลับคืนมา...พร้อมให้ชีวิตไม่สะดุด เพราะ stroke” ณ ห้องโถงล๊อบี้ ชั้น 3 รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

 นพ. อภิชาติ พิศาลพงศ์ ผู้อำนวยการ แผนกอายุรกรรมประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า สมองและระบบประสาททำหน้าที่ควบคุมกลไกต่างๆ ของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับสมองและระบบประสาทจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ เพื่อการรักษาได้ทันท่วงที ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมให้การดูแลรักษา ทุกปัญหาที่เกี่ยวกับสมอง และระบบประสาท โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ ทั้งทางด้านอายุรกรรมกับศัลยกรรมทางสมองเเละระบบประสาท รวมถึงแพทย์สหสาขาวิชา ทั้งแพทย์ด้านการดูแลผู้ป่วยขั้นวิฤต แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ ฯลฯ ที่มีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาท พร้อมด้วยเครื่องมือ เทคโนโลยีในการรักษา โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาที่ต้นเหตุและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ร่วมกับการฟื้นฟูสมองโดยคำนึงถึงผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ภายใต้  Concept   :  SMART  คือ  S  : Specialist   แพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขา  M :  Modern   การออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล ที่ได้มาตรฐานและวิธีการที่ทันสมัย   A : Advanced   มีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  R :  Reputation     เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงและเป็นไปตามมาตรฐานสากล  T : Technology  มีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัยในการตรวจวินิจฉัยและรักษา ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ทันท่วงทีโดยผ่านศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส   BDMS  Medevac Center   ซึ่งสามารถประเมินและจัดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญ  พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงรพ. ในเครือข่ายเพื่อให้การช่วยเหลือ รับปรึกษา  ส่งต่อในกรณีที่ต้องการและติดตามการรักษาด้วย telemedicine (การรับปรึกษาทางระบบทางไกล)     ทั้งนี้ กระบวนการในการรักษาผู้ป่วยโรคทางสมองและระบบประสาท ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการรักษาในระดับสากล  JCI (Joint Commission International) จากประเทศสหรัฐอเมริกา 


นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นโรคร้ายในลำดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตประชากรไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน เป็นโรคที่คนทุกวัยควรระวัง ทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน หรือวัยรุ่น ก็อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดยเฉพาะในช่วงอายุอายุ 18-50 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น การสังเกตอาการ “BEFAST” ของตนเองหรือคนใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ “B” คือ Balance เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุน ฉับพลัน  “E” คือ Eyes ตามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนฉับพลัน  “F” คือ Face Dropping ยิ้มแล้วมุมปากตก  “A” คือ Arm Weakness ยกมือแล้วกำไม่ได้ หรือแขนขาไม่มีแรง คือ Speech Difficulty พูดไม่ชัด พูดไม่ออก และ “T” คือ Time to call ควรรีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่และนำส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ 4.5 ชม. ที่เป็น Magic Number คือ ถ้ามาถึงโรงพยาบาลภายในช่วงเวลา 4.5 ชม.นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ แพทย์จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือ rtPA ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งในคนไข้รายที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมอง จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน แต่สำหรับรายที่หากมาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และวินิจฉัยว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยา rtPA อาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการรักษาโดยใส่สายสวนหลอดเลือดสมองเข้าช่วย โดยแพทย์จะพิจารณาว่าจะใช้วิธีการดูด หรือนำลวด หรือตะแกรงเข้าไปเกี่ยวลิ่มเลือดที่อุดตัน ฉะนั้นจึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดต้องทำด้วยความระมัดระวังโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพื่อวางแผนการรักษาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ป่วยมากที่สุด


นพ.นันทศักดิ์ ทิศาวิภาต ผู้อำนวยการ แผนกศัลยกรรมระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในภาวะเฉียบพลันทั้งชนิดขาดเลือดและแตกนั้น นอกจากการให้ยาละลายลิ่มเลือด (fibrinolytic agents or rt-PA) การทำหัตถการใส่สายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือดสมอง (endovascular thrombectomy) ยังมีการใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อสแกนเนื้อสมอง จะสามารถเห็นความเสียหายได้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ แพทย์จะใช้เครื่อง Bi-Plane DSA (ไบเพลน ดีเอสเอ) เครื่องตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด ช่วยในการดึงลิ่มเลือดอุดตัน แบบ Minimal Invasive โดยการใส่สายสวนเพื่อไปเปิดหลอดเลือดสมอง (ไม่เปิดกะโหลกศีรษะ) แต่จะมีแผลเล็กที่ขาหนีบตรงบริเวณที่ใส่สายสวนแทน    หรือหากสมองมีอาการรุนแรงจนวิกฤต แพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดสมองด้วยเทคนิคนำวิถี (Steriotactic Neurosurgery) แพทย์สามารถกำหนดจุดที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างถูกต้องก่อนจะลงมีด นำผู้ป่วยไปเข้าเครื่องสร้างภาพของสมอง แล้วจึงนำภาพนั้นไปวางแผน กำหนดพิกัดช่วยให้ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดสมองสามารถเปิดแผลศีรษะเฉพาะจุดที่ต้องการเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยมีบาดแผลเล็กลงอย่างมาก บางครั้งอาจผ่าตัดผ่านรูขนาดเล็กเพียง 1 – 2 เซนติเมตร ส่งผลให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการ หรือเสียชีวิตต่ำกว่า   เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละราย  ทางศูนย์สมองและระบบประสาท มีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้ง BDMS และพันธมิตรอื่นๆ  ช่วยทำให้การส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพ  พร้อมทั้งอาศัยการทำงานร่วมกันของทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชาชีพ  ทั้งนักกายภาพบำบัด เภสัชกรคลินิก นักกำหนดอาหาร ฯลฯ  เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด

พญ. ดวงพร รุธิรโก อายุรแพทย์ ด้านผู้ป่วยวิกฤต รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ การที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ดีหลังการผ่าตัดหรือการเจ็บป่วยทางสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในหอผู้ป่วยวิกฤติ หรือ ICU จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 3-5 วันแรก เนื่องจากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตันซ้ำ สมองบวม ภาวะความดันในสมองสูง หรือการติดเชื้อ เป็นต้น การดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ รวมถึงการให้การรักษาอย่างทันท่วงทีจึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะระยะที่ 2  (secondary brain injury) เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะสมองขาดออกซิเจน ภาวะชัก ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ทำให้สมองสูญเสียหน้าที่มากขึ้น และเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการในผู้ป่วยวิกฤติทางสมองให้เหลือน้อยที่สุด

โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ใช้ระบบ Smart ICU เป็นนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีทาง medical informatics โดยใช้คอมพิวเตอร์เก็บรวบรวมข้อมูลทางคลินิกต่างๆ ของผู้ป่วยแต่ละราย มีการประมวลผลอย่างแม่นยำและนำเสนอข้อมูลปริมาณมากแบบ real-time ในรูปแบบที่เอื้ออำนวยต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤติทางสมอง ซึ่งต้องการการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแบบทันท่วงที ทั้งสัญญาณชีพ ระดับออกซิเจนในเลือด ปริมาณสารน้ำเข้า-ออก ระดับความดันภายในสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง และข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาทั้งหมดจะถูกบันทึกและสามารถทำมาเปรียบเทียบเพื่อประกอบการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยได้ตลอดเวลาทั้งใน ICU และเพื่อรองรับระบบการปรึกษาทางไกล (telemedicine) หลักการของ real-time data collection  integration of information และ action-reaction ยังช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถติดตามผลการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับตลอดเวลาและสามารถปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ตามหลักของ Precision and personalized medicine

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส กล่าวว่า ภาวะฉุกเฉินทางสมองต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ทันเวลา เป้าหมายสำคัญในการลำเลียงผู้ป่วยทางสมองโดยอากาศยาน คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย และการปกป้องไม่ให้สมองเกิดความเสียหายมากขึ้น” เนื่องจากโอกาสรอดชีวิต และคุณภาพชีวิตผู้ป่วยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของสมอง การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศจึงต้องยึดถือกฏนิรภัยการบิน ควบคู่กับมาตรฐานการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยทางสมอง โดยมีมาตรฐานการดูแลขณะลำเลียงผู้ป่วยทางสมอง ดังนี้ 1.การดูแลทางเดินหายใจ และการหายใจ ผู้ป่วยต้องหายใจได้ดี ได้รับออกซิเจนเพียงพอต่อความต้องการของเซลล์สมอง และมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้สมองบวมเพิ่มมากขึ้น 2.การดูแลระบบการไหลเวียนโลหิต ภาวะฉุกเฉินทางสมองส่วนใหญ่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงโดยเฉพาะบริเวณที่เกิดปัญหา ต้องดูแลและตรวจติดตามเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองเพียงพอ 3.ตรวจการทำงานของสมอง และระบบประสาท ทีมแพทย์-พยาบาลต้องตรวจประเมินการทำงานของสมอง และระบบประสาทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบในทันทีที่อาการเปลี่ยนแปลง 4. การปกป้องกันเซลล์สมองจากความเสียหายที่อาจเพิ่มขึ้น ทำได้โดยการป้องกันไม่ให้สมองทำงานหนัก และลดสิ่งกระตุ้น เพื่อลดความต้องการใช้ออกซิเจนจากการทำงานเพิ่มขึ้นของสมอง เช่น มีไข้ ชัก กระสับกระส่าย 5.การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับปัญหาทางสมอง ให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย ปรับตำแหน่งของศีรษะและลำคอให้เหมาะสม 6.การประสานงานเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาทันเวลา ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางสมองต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องโดยเร็ว เพื่อเริ่มการรักษาที่จำเป็นได้ก่อนที่เซลล์สมองจะเสียหายจนไม่สามารถฟื้นตัวได้

ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส(BDMS Medevac Center) มีทีมรับแจ้งเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง มีบริการอากาศยานทางการแพทย์ฉุกเฉิน (SKY ICU) ให้บริการรับ-ส่งคนไข้ฉุกเฉินเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่แรกรับ ด้วยอุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง ปฏิบัติงานบนเครื่องด้วยทีมแพทย์-พยาบาลที่มีความชำนาญและประสบการณ์ ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานนิรภัยการบิน ขององค์กรการบินระหว่างประเทศ รวมทั้ง ยังมีอุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉินจำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพและกระตุ้นหัวใจ ที่พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ป่วยในยามฉุกเฉินได้ไม่ต่างกับห้อง ICU โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที รวดเร็ว และปลอดภัย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ... มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งขอเชิญชวนสาธุชน ทานสาคูสิริมงคล ทำบุญสะเดาะเคราะห์ (พะเก่ง) ในงานเทศกาลตรุษจีน ประจำปี ๒๕๖๘ ณ ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ...  มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งขอเชิญชวนสาธุชน ทานสาคูสิริมงคล ทำบุญสะเดาะเคราะห์ (พะเก่ง) ในงานเทศกาลตรุษจีน ประจำปี ๒๕๖...