วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กรมการท่องเที่ยวจับมือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น

กรมการท่องเที่ยวจับมือกรมการแพทย์แผน

ไทย และการแพทย์ทางเลือก 

ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้เดินทางท่องเที่ยว สัมผัสเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนวดไทย สมุนไพรไทย กัญชาทางการแพทย์แผนไทยและมรดกภูมิปัญญา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและชุมชน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว และคณะผู้บริหารจากทั้ง 2 กระทรวง ร่วมกิจกรรมการนำสื่อมวลชนศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร (Press Tour) ประสบการณ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Exclusive Trip “Hidden Gem เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกรุงเทพมหานครที่ต้องเช็คอินซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้งาน เที่ยวเมืองไทย สุขภาพดี วิถีถิ่น 2020”  เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563


สำหรับกิจกรรมในวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว คณะผู้บริหารจากทั้ง 2 กระทรวง และเสื่อมวลชน ได้เดินทางท่องเที่ยวเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Exclusive Trip “Hidden Gem เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกรุงเทพมหานครที่ต้องเช็คอิน เริ่มจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) วัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ที่ทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลก ในทะเบียนนานาชาติ และถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์


โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำคณะกราบสักการะพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีลักษณะพิเศษคือ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน โดยที่พระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ ลวดลายของมงคล 108 ประการนั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีปและจีน ณ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ร่วมรับฟังการบรรยายและร่วมชมสถาปัตยกรรมที่งดงาม ชมภาพเขียนสีเรื่อง “มหาวงศ์” และภาพเขียนสีเกี่ยวกับพระสาวิกาเอตทัคคะ 13 องค์ อุบาสกเอตทัคคะ 10 ท่าน และอุบาสิกาเอตทัคคะ 10 ท่าน  บนผนังวิหารและผนังระหว่างช่องหน้าต่าง

จากนั้นชมจารึกเรื่องราวสมุนไพร ไหนๆ มาวัดโพธิ์แล้ว ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งผู้บริหารก็ต้องลองกดจุดนวดบำบัดกันสักหน่อย ณ ศาลาแม่ซื้อ ตามด้วยการชมสถาปัตยกรรมที่สวยงามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พระเจดีย์ พระวิหาร สถูป รูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ ซึ่งจำนวนของรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่สร้างในรัชกาลที่ 1 นั้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้หล่อรูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ รวม 80 ท่า โดยใช้สังกะสีและดีบุก แทนการใช้ดินที่เสื่อมสภาพได้ง่าย ปัจจุบันรูปปั้นฤาษีดัดตนที่อยู่ภายในวัดโพธิ์เหลือเพียง 24 ท่าเท่านั้น เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้น รวมทั้งมีการลักลอบเอารูปปั้นไปขายบางส่วน และยักษ์วัดโพธิ์ บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป ยักษ์ตนนี้มีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมักมีผู้เข้าใจผิดว่าตุ๊กตาสลักหินรูปจีนหรือลั่นถัน นายทวารบาลที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูวัดนั้นคือยักษ์วัดโพธิ์  


    นอกจากนี้ วัดโพธิ์ยังเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่าง ๆ จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา ซึ่งอาจจะแบ่งความรู้ต่างๆ ออกได้เป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ หมวดอนามัย หมวดประเพณี หมวดวรรณคดีไทย หมวดสุภาษิต หมวดทำเนียบ (จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา  โดยเมื่อเทียบในปัจจุบันอาจจะแบ่งออกเป็นคณะต่างๆ ดังนี้ คณะประวัติศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ (ไม่เป็นทางการ) เมื่อทราบประวัติความเป็นมาและชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมต่างๆ แล้ว ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งผู้บริหารก็ร่วมกันถ่ายภาพหมู่หน้าเจดีย์ 4 รัชกาล ซึงเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


หลังถ่ายภาพเสร็จก็ออกเดินทางไปยังบ้านยาหอม บ้านไม้โบราณที่มีความสวยงามร่วมสมัย แถวสี่แยกคอกวัวเมื่อไปถึงคุณดลชัย บุณยะรัตเวช ทายาทรุ่นที่ 5 ตระกูลยาหอมสุคนธโอสถ ก็ได้พาเดินชมส่วนต่างๆ ภายในบ้านยาหอม พร้อมบรรยายประวัติความเป็นมาของตระกูลผู้สร้างตานานยาหอมสุคนธโอสถ ตราม้า ที่เลื่องชื่อในอดีตมาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4   ตามด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ทำเครื่องหอม ถุงหอม


จากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน เที่ยวเมืองไทย สุขภาพดี วิถีถิ่น 2020ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 13 ธันวาคม 2563 ณ ลานเมืองชั้น G เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร โดยภายในงานได้รวมความมหัศจรรย์ของเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health tourism) ของไทย ทั้งธรรมชาติ วิถีชุมชน วัฒนธรรม และวิธีการรักษาสุขภาพกายใจกับเมนูสุดยอดอาหารถิ่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจากภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสเสน่ห์ความหลากหลายของวิถีถิ่นและวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค เพลิดเพลินกับสุนทรียภาพและศาสตร์แห่งการบำบัดอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค และที่สำคัญทุกท่านจะได้พบกับแพ็คเกจท่องเที่ยวเมืองสมุนไพร 4 ภูมิภาค,  Half day trip เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสุขภาพ และการผ่อนคลายในราคาพิเศษแบบ Exclusive Trip ซึ่งมีเฉพาะในงานนี้เท่านั้น และในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ในงาน เที่ยวเมืองไทย สุขภาพดี วิถีถิ่น 2020 จะมีพิธีลงนาม  MOU ระหว่างกรมการท่องเที่ยวกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นวดไทย สมุนไพรและกัญชาทางการแพทย์แผนไทยร่วมกัน สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเฉพาะที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ รองรับการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19




แล้วก็ได้เวลาพักรับประทานอาหารไทยโบราณ และที่ขาดไม่ได้คือ ต้มจิ๋ว มีลักษณะกึ่งๆ ต้มแซบแต่ไม่ใส่เครื่องต้มยาซึ่งพระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิทพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงปรุงแกงนี้ขึ้น พร้อมเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และขนมไทยโบราณ


ปัจจุบันบ้านยาหอม เป็นร้านอาหารที่ภายในตกแต่งได้อย่างสวยงาม มีอาหารน่ารับประทานหลายอย่าง รวมทั้งอาหารเชิงสุขภาพ พร้อมทั้งเครื่องดื่มทั่วไป เครื่องดื่มสมุนไพร และยังมีบริการนวดผ่อนคลาย นวดแผนไทย และนวดสปาอีกด้วย


หลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปยังวัดเทพธิดารามวรวิหารวัดเทพธิดารามวรวิหาร ถนนมหาไชย เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือพระเจ้าลูกเธอ พระองศ์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 3 มีสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่สวยงามซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน เนื่องจากในช่วงนั้นมีการติดต่อค้าขายกับจีน อิทธิพลของจีนจึงเข้ามามีบทบาท มีเครื่องประดับพระอารามเป็นตุ๊กตาจีนสลักหิน ทั้งรูปคนและสัตว์ ตุ๊กตารูปคนบางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งกายแบบไทย และที่พิเศษก็คือวัดแห่งนี้มีรูปสลักผู้หญิงในลักษณะต่างๆ เป็นส่วนมาก


 เมื่อไปถึงเราก็ชมความงามของพระอุโบสถ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ของการสร้างวัดในรัชสมัยนั้นๆ โดยหน้าบันของตัวพระอุโบสถประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีรูปหงส์คู่ ซึ่งในทางคติความเชื่อของจีน “หงส์” เป็นเจ้าแห่งสัตว์ปีกทั้งปวง และนำหงส์มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนฮองเฮา อันสื่อถึงสตรีผู้สูงศักดิ์ที่มาพร้อมความสวยงามและคุณธรรมความดีงาม ดังนั้นรูปหงส์ที่ประดับอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถ จึงมีนัยสื่อถึง "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส)" พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นั่นเอง  และเมื่อเข้าไปภายในตัวพระอุโบสถ เราก็กราบสักการะพระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว) เป็นพระประธานปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ หน้าตักกว้าง 15 นิ้ว สูง 21 นิ้ว ประดิษฐานบนบุษบก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถจะเป็นรูปหงส์ ซึ่งผิดกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดอื่นที่มักนิยมวาดเรื่องราวชาดก รวมถึงภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) ประดับอยู่ตรงประตูทางเข้าภายในตัวพระอุโบสถ (ขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย หลังคาของอุโบสถรั่วซึม ทำให้ภาพจิตรกรรรมฝาผนังโบราณเสียหาย ต้องรีบซ่อมแซมหลังคาอุโบสถโดยด่วน)

จากนั้นก็เดินไปที่พระวิหารภิกษุณี 52 องค์ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ควรพลาด เพราะความสวยงามของรูปหล่อหมู่พระภิกษุณีจำนวน 52 องค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้สร้างรูปหมู่ภิกษุณีไว้ เมื่อครั้งสถาปนาวัดเทพธิดารามในปี .ศ. 2379 เป็นศิลปกรรมในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ประดิษฐานบนแผ่นหินอ่อนหน้าพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหาร เป็นรูปหล่อด้วยดีบุกทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 11 นิ้ว สูง 21 นิ้ว จำนวน 52 องค์ (นั่ง 49 องค์ ยืน 3 องค์) อยู่ในอิริยาบถต่างๆ หลากหลายท่า มีทั้งท่านั่งปฏิบัติธรรม ฟังธรรมเสวนา ฉันหมาก สูบยา ยืนไหว้ ฯลฯ    ปัจจุบันได้ลงรักปิดทองกันชำรุด และจะมีภิกษุณีองค์หนึ่งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางรูปหล่อหมู่พระภิกษุณีทั้ง 52 องค์ นั่นคือรูปหล่อ "พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี" ภิกษุณีรูปแรกที่มีส่วนในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่ หากแต่ในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะได้รับการอนุญาตจากพระพุทธเจ้าให้บวชเป็นภิกษุณี ด้วยต้องยึดหลักและปฏิบัติตามครุธรรม 8 ประการ และถือศีล 311 ข้อ ดังนั้นการจะเป็นภิกษุณีได้นั้น จึงต้องสตรี อาศัยศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เพื่อที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยสาวิกา และน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระประสงค์จะนำพุทธบริษัท อันปรากฏอยู่ในพุทธประวัติมาแสดงไว้เป็นหลักฐาน และประดิษฐานไว้ที่พระอารามหลังนี้ ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์เกียรติประวัติแก่พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระปิยราชธิดาในพระองค์ ซึ่งยกย่องเปรียบประดุจว่า นางเทพธิดา


ตามด้วยการชมหอไตร ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นอาคารซึ่งได้รับอิทธิพลตกแต่งจากจีนตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ใต้ถุนสูง กว้าง 6.50 เมตร สูง 10 เมตร ปิดทอง ล่องชาด มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปิดทองประดับกระจกสี มีงานศิลปะลายรดน้ำที่มีอยู่ทุกบานประตู และหน้าต่าง หอไตรมีไว้สำหรับเก็บรักษาพระคัมภีร์ใบลาน จารึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ มีตู้พระไตรปิฎกทรงโบราณ กว้าง 1.75 เมตร ยาว 1.70 เมตร สูง 2 เมตร ขาตู้เป็นลักษณะเท้าสิงห์ ปัจจุบันหอพระไตรปิฎกไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเที่ยวชม


วัดเทพธิดารามนี้ยังเคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2385 รวมเป็นเวลาทั้งหมด 3 ปี และจำพรรษาที่กุฏิในหมู่กุฏิคณะ 7 ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏินี้ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสุนทรภู่ และเปิดให้บุคคลทั่วไป นิสิต และนักศึกษา ได้เข้ามาศึกษาองค์ความรู้ โดยภายในพิพิธภัณฑ์นี้ประกอบด้วยห้องทั้งหมด 3 ห้อง ได้แก่ ห้องแรงบันดาลใจไม่รู้จบ จัดแสดงเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 รวมทั้งยังมีรูปหล่อครึ่งตัวของท่านเมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ ห้องมณีปัญญา เพลิดเพลินและสนุกกับการเรียบเรียงบทร้อยกรองคำประพันธ์ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็น กลอน กาพย์ โคลง และนิราศ และห้องใต้ร่มกาสาวพัสตร์ จัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของสุนทรภู่ เมื่อครั้งที่ท่านยังบวชเป็นพระ




                จากนั้นก็เดินมายังวัดราชนัดดารามวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี มีลักษณะสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบไทย เมื่อไปถึงเราก็เดินเข้าไปกราบสักการะพระเสฏฐตมมุนี พระประธานในพระอุโบสถลักราบสักการะพระพุทธชุติธรรมนราสพ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรในพระวิหาร

ที่วัดราชนัดดาฯ มีโลหะปราสาท ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นสง่าสวยงามมาก เป็นอาคาร 7 ชั้น เป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น จนไปถึงยอดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามรอบๆ ได้


 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาทแทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย  และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นรัชกาล นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท จนมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะฎิสังขรณ์หลายครั้งตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่หาได้ โดยบูรณะตั้งแต่ชั้นบนลงมาคือทำพื้น ก่อมณฑปโบกปูนสีแดง ยกฉัตร ยอดเจดีย์ที่ชั้นบนสุด และชั้นที่ 2 ทั้งหมด ยังเหลือแต่ชั้นล่างสุดที่ไม่ได้บูรณะ ในปี พ.ศ. 2506 ได้มีการบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ดำเนินการในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) เจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด นับว่าโลหะปราสาทได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้


เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรกแห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 สืบเนื่องจากโอกาสดังกล่าว โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุดจึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ


ปิดท้ายทริปนี้ด้วยกราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระบิดาการแพทย์แผนไทย) ณ ลานเจษฎาบดินทร์ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ พื้นที่โดยรอบเป็นลานกว้าง จัดสร้างพลับพลาที่ประทับ เพื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศของเราได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 จนถึงวันนี้กว่า 11 เดือนแล้วที่เราคนไทยร่วมกันต่อสู้ และบรรเทาความเดือดร้อนซึ่งกันและกันอย่างดีที่สุด กรมการท่องเที่ยวในฐานะหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่มีส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับผู้ประกอบการที่พักโฮมสเตย์ให้เป็นโฮมสเตย์เชิงสุขภาพ หรือ Healthy Homestay การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสมุนไพร การประกาศเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวท้องถิ่นหรือชุมชน เพื่อให้ผู้นำชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านได้ทำหน้าที่มัคคุเทศก์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในการนำนักท่องเที่ยวเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและพืชสมุนไพรเฉพาะถิ่น รวมถึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านสมุนไพรไทยและกัญชาให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรไทยและกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้เส้นทางท่องเที่ยวสำหรับคนรักสุขภาพเป็นเส้นทางที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย แหล่งท่องเที่ยวมีความพร้อมในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่ซื้อแพ็คเกจทัวร์สุขภาพจากบริษัทนำเที่ยวไปแล้ว เกิดความรู้สึกคุ้มค่าคุ้มราคา เกิดการบอกต่อชักชวนเพื่อนฝูงหรือครอบครัว ออกเดินทางท่องเที่ยวซ้ำ นำรายได้ไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม รีสอร์ท รถรับจ้าง และร้านขายของที่ระลึกในชุมชนท้องถิ่น

กิจกรรมเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร (Press Tour) ประสบการณ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Exclusive Trip “Hidden Gem เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกรุงเทพมหานครที่ต้องเช็คอินที่จัดขึ้นในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวอย่าง Half day trip เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่นักท่องเที่ยวสายสุขภาพสามารถซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยว หรือออกเดินทางตามรอยเส้นทางนี้ได้

และกรมการท่องเที่ยวขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวไปพร้อมกับการดูแลรักษาสุขภาพไปร่วมงานเที่ยวเมืองไทย สุขภาพดี วิถีถิ่น 2020” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2563 ณ ลานเมืองชั้น G เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร สามารถอุดหนุนแพคเกจท่องเที่ยวจากบริษัททัวร์ที่มีคุณภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจากภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น เพราะนอกจากจะได้ประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรูปแบบใหม่แล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28  "สรวงศ์" รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเ...